ภาพกิจกรรม

มรภ.สงขลา ติวเข้มคณาจารย์เขียนงานวิชาการรับใช้สังคม ให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ
.
สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การเขียนผลงานทางวิชาการรับใช้สังคมเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ" ระในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางระบบ Zoom โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย ผศ.อภิชาติ พันชูกลาง รองผุ้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการให้บริการวิชาการมาพัฒนาเป็นผลงานทางวิชาการ สำหรับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น พร้อมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัยและชุมชนท้องถิ่น
.
รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่ ก.พ.อ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการฉบับใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คณาจารย์สามารถใช้ผลงานวิชาการรับใช้สังคมเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดโครงการอบรมนี้ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะการเขียนผลงานวิชาการรับใช้สังคมให้แก่คณาจารย์
.
"การให้บริการวิชาการแก่สังคมถือเป็นพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย และเป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ การอบรมครั้งนี้จะช่วยให้คณาจารย์สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการบริการวิชาการมาพัฒนาเป็นผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าว
.
ผศ.อภิชชาติ พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.เจษฎา มิงฉาย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ผู้มีประสบการณ์ในการเขียนผลงานวิชาการรับใช้สังคมและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริงและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม
.
การอบรมครั้งนี้ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญ ประกอบด้วย
1. หลักเกณฑ์และวิธีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานรับใช้สังคมตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับใหม่
2. องค์ประกอบและรูปแบบการเขียนเอกสารผลงานวิชาการรับใช้สังคม
3. เทคนิคการเขียนบทความวิชาการรับใช้สังคมที่มีคุณภาพ
4. การประเมินผลกระทบทางสังคมจากงานบริการวิชาการ
5. การเชื่อมโยงงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการวิจัย
6. กรณีศึกษาผลงานวิชาการรับใช้สังคมที่ประสบความสำเร็จ
7. เทคนิคการนำเสนอผลงานวิชาการรับใช้สังคมต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเขียนผลงานวิชาการรับใช้สังคม การวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลงาน การประเมินผลกระทบทางสังคม ตลอดจนได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมยังจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาผลงานวิชาการรับใช้สังคมร่วมกัน

Post : 2024-11-28