ภาพกิจกรรม

มรภ.สงขลา เสิร์ฟงานวิจัย-โชว์นวัตกรรม ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2025

สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชษฐ์ จันทวี รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิชาติ พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ และคณะนักวิจัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Research Expo 2025)” โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 16–20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ภายในงาน สถาบันวิจัย มรภ.สงขลา ได้จัดบูธนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด การท่องเที่ยวโดยรถไฟสายภาคใต้ โดยความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผ่านระบบขนส่งทางรถไฟ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นตามแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งประกอบไปด้วยงานวิจัย ดังนี้
1. การนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายใต้มาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นักวิจัย : อ.ดร.นราวดี บัวขวัญ
2. การพัฒนาการผลิตกาแฟเพื่อเป็นสินค้าชุมชนในอำเภอคลองหอยโข่งจังหวัดสงขลา
นักวิจัย : รศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม
3. กระบวนการจัดการความรู้ของผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนกปรอดหัวโขนเคราแดง (นกกรงหัวจุก) ในพื้นที่จังหวัดสงขลา
นักวิจัย : ผศ.ดร.เพ็ญนภา จันทร์แดง
4. ระบำนาฏยบูชาพระทองคลองแดน : การสร้างสรรค์ระบำพื้นบ้านจากความศรัทธาของชุมชนวิถีพุทธคลองแดน
นักวิจัย : ผศ.ทัศนียา คัญทะชา
5. ตุ๊กตามุสลิมจากผ้ามัดย้อมสีจำปาดะ
นักวิจัย : ผศ.ศศิธร วิศพันธ์
6. ผลกระทบในเชิงนโยบายการเปิดเสรีสุราชุมชน: ศึกษากรณีประชาชนและผู้ประกอบการด้านสุราพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
นักวิจัย : ผศ.ดร.เพ็ญนภา จันทร์แดง
7. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ขนมดอกจอก กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
นักวิจัย : ผศ.คุลยา ศรีโยม
8. การเพิ่มศักยภาพการบริหารการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นเพื่อการพึ่งพาตนเองทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลาอย่างยั่งยืน
นักวิจัย : ผศ.ดร.ศดานนท์ วัตตธรรม
9. การสร้างสรรค์ของเล่น อาร์ตทอย (Art Toy) โดยมีแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏในพื้นที่ คาบสมุทรสทิงพระ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
นักวิจัย : อาจารย์วงศ์วรุตม์ อินตะนัย
10. การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน : ย่านชุมชนเก่าเกาะยอ
นักวิจัย : ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช
11. เซรั่มผสมสรสกัดส้มแขก
นักวิจัย : ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์
12. ผลิตภัณฑ์ทาขนมปังจากเนื้อส้มแขก
นักวิจัย : ผศ.ดร.สุรีย์พร กังสนันท์
13. น้ำจิ้มลูกชิ้นจากส้มแขกสูตรไม่มีน้ำตาล
นักวิจัย : ผศ.ฐิติมาพร ศรีรักษ์
และ 14. เซรั่มผสมสารสกัดดอกกาแฟโรบัสต้า
นักวิจัย : ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์

ผลงานวิจัยดังกล่าวเน้นการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติของภาคใต้ เข้ากับระบบการเดินทางโดยรถไฟ ซึ่งไม่เพียงแต่สะดวกสบาย แต่ยังสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างและมีคุณค่าสูง สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ โครงการยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการออกแบบเส้นทาง บริการ และกิจกรรมที่เกิดจากองค์ความรู้จากการวิจัย

ในบูธของ มรภ.สงขลา ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับการนำเสนอแนวคิดเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟสายภาคใต้ ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารถิ่น งานหัตถกรรม และกิจกรรมชุมชน ที่ตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ที่แท้จริง (authentic experience) และมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัย แพ็กเกจท่องเที่ยวที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าหลากหลาย และการออกแบบบริการบนรถไฟที่สะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

ความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย ทำให้โครงการนี้มีศักยภาพในการนำไปปฏิบัติจริง และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ โครงการยังมุ่งพัฒนาศักยภาพของชุมชนท่องเที่ยวให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง และรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้อย่างสมดุล

การร่วมออกบูธในงาน Research Expo 2025 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ มรภ.สงขลา จะได้แสดงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป


Post : 2025-06-20