รายละเอียดข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อบทความ การพัฒนาชุดความรู้ “เรื่องเล่าเรา...เขารูปช้าง” เพื่อสร้างการเรียนรู้ของเยาวชน ในตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ประเภทการตีพิมพ์ วารสารวิชาการระดับชาติ
ชื่องานประชุมวิชาการ/วารสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
ผู้แต่ง ศดานนท์ วัตตธรรม
โชติกา รติชลิยกุล
บุณิกา จันทร์เกตุ
พัชราวดี อักษรพิมพ์
วรวรรณ สุขใส
สิทธิพร ศรีผ่อง
อมรรัตน์ จิรันดร
วันที่ตีพิมพ์/นำเสนอ 25 ธ.ค. 2566
ปีที่ 6
ฉบับที่ 1
หมายเลขหน้า 32-47
ลักษณะบทความ
Abstract การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงผสมผสานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจสภาพบริบทพื้นที่ของตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 2) ออกแบบและจัดทำชุดความรู้ “เรื่องเล่าเรา...เขารูปช้าง” และ 3) ตรวจสอบความเหมาะสมของชุดความรู้ “เรื่องเล่าเรา...เขารูปช้าง” โดยการศึกษาเอกสาร
การสัมภาษณ์ จำนวน 5 คน และการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 16 คน โดยวิธีการกำหนดแบบเฉพาะเจาะจง จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และปราชญ์ชุมชน และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา จากนั้น นำชุดความรู้ที่ได้มาตรวจสอบความเหมาะสมโดยกลุ่มนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในการเขียนชุดเรื่องเล่า จำนวน 3 คน โดยวิธีการกำหนดแบบเฉพาะเจาะจง และนำผลที่ได้มาประเมินเพื่อหาค่าดัชนีความสอดคล้องที่ต้องมีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป
ผลการศึกษา พบว่า 1) สภาพบริบทพื้นที่ของตำบลเขารูปช้าง ประกอบไปด้วย 1.1) ด้านประวัติศาสตร์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับทวดลักเก้าที่จะเดินทางไปร่วมสร้างเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช และได้เป็นจุดแวะพักจนกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย 1.2) ด้านกายภาพและทรัพยากรธรรมชาติ ตำบลเขารูปช้างเป็นที่ราบ ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มนาข้าว มีคลองสำโรง เขาเทียมดา และเขาสำโรง เป็นอาณาเขต 1.3) ด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ ค้าขาย และเกษตรกรรม และ 1.4) ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่มีความเป็นถิ่นไทยใต้ และมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย 2) ออกแบบและจัดทำชุดความรู้ ประกอบไปด้วย 2.1) ด้านเนื้อหา ควรมีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และกิจกรรมการท่องเที่ยว และ 2.2) ด้านรูปแบบชุดความรู้ จัดทำเป็นรูปเล่มขนาด A5 โดยผ่านการสมมติตัวละครให้เป็นเยาวชน และเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย และ 3) ตรวจสอบความเหมาะสมของชุดความรู้ พบว่า มีความเหมาะสมในประเด็นความครบถ้วนในเชิงวิชาการ ความเหมาะสมของวิธีการเขียนเรื่องเล่า ความน่าสนใจของวิธีการเล่าเรื่อง และความทันสมัยของเนื้อหาในการถ่ายทอด และต้องปรับปรุงในประเด็นความสมบูรณ์ตามแหล่งข้อมูล