โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 12
สานพลังเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
1. หลักการและเหตุผล
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก และโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ในการสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น โดยนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและพัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาถ่ายทอดทักษะความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตและการจัดการของเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพรายได้และการพึ่งพาตนเอง ส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งทางสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 9 เครือข่าย เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ โดย สกอ. ให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนการวิจัยเพื่อผลิตผลงานวิจัยเพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน และการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชน ชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และสร้างกลไกเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น โดยนำความรู้จากผลงานวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนางานวิจัยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อชุมชนและประเทศชาติ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักวิจัยในแต่ละเครือข่ายฯ ได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเป็นเวทีให้คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเผยแพร่ผลงานวิจัยและ
นวัตกรรมจากงานวิจัยเพื่อความมั่นคง มั่งคง และยั่งยืนต่อชุมชนและประเทศชาติ
2.2 เพื่อให้คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัย นวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน
2.3 เพื่อให้คณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในทุกภูมิภาค มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกัน
2.4 เพื่อจัดประชุมประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยและเจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่าย
3. หัวข้อและเนื้อหาของการประชุม
การจัดประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักในการประชุม คือ สานพลังเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และประเด็นที่เป็นเนื้อหาในการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ ประกอบด้วย
3.1 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต
3.2 วิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต
3.3 มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิต
3.4 การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์/สร้างสรรค์
3.5 การศึกษา เพื่อพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
3.6 นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์
4. รูปแบบการดำเนินการ
4.1 การเสวนาทางวิชาการ ดำเนินการภายใต้หัวข้อหลัก คือ สานพลังเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยจัดเป็นการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ พร้อมการเสวนาพิเศษในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก และส่วนของภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมธรรมรินธนา จังหวัดตรัง
4.2 การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย (Research exhibitions) โดยจัดนิทรรศการแบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย
4.2.1 นิทรรศการเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ แบ่งเป็นภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 9 เครือข่าย นิทรรศการ ดังนี้
1. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออก
2. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนบน
3. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง
4. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
5. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
6. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคกลางบน
7. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคกลางล่าง
8. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน
9. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง
4.2.2 นิทรรศการเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง จำนวนทั้งสิ้น 13 นิทรรศการ
4.2.3 นิทรรศการพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมิณทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากฐานรากสู่รัฐและพาณิชย์ โดยนำผลงานวิจัยเด่นของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ทั้งบนและล่าง อย่างละ 1 โครงการเข้าจัดแสดงในนิทรรศการ โดยมุ่งเน้นโครงการที่สอดคล้องหรือตอบสนองพระราชกรณียกิจของพระองค์
4.2.4 นิทรรศการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
4.2.5 พื้นที่เจรจาธุรกิจ เพื่อการประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชนภายในงาน
4.3 การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย (Oral presentations)
4.4 การเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ (Poster presentations)
4.5 การประชุมประธานเครือข่ายบริหารการวิจัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อประชุมหารือกำหนดแผน นโยบายในการดำเนินการของเครือข่ายผู้บริหารการวิจัย พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการเครือข่ายร่วมกัน
4.6 การประชุมเจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่าย เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในแนวทางการดำเนินการของผู้ประสานงานเครือข่ายอุดมศึกษาทั่วประเทศ