การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและคัดสรรรูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาลที่มีอยู่เดิมนำมาพัฒนารูปแบบใหม่ให้มีความหลากหลายและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ใยตาลสู่การขยายโอกาสทางการตลาด กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเครือข่ายโหนดทิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มหัตถกรรมใยตาลสทิงพระ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นกลุ่มแม่ข่าย การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ผลการวิจัยสรุป ได้ดังนี้ ผลการศึกาาและคัดสรรรูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาลในชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ผลการศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาลกลุ่มเครือข่ายโหนดทิ้ง พบว่า รูปแบบที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ใยตาลส่วนใหญ่จะเป็นกระเป๋าจากใยตาลที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เช่นกระเป๋าทรงคุณนาย กระเป๋าสะพาย กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ กล่องกระดาษทิชชู โคมไฟ และของชำร่วย ฯลฯ ผลจากการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คือ โครงของกระเป๋าที่มีขอบเป็นไม้ตาลประกอบกับเส้นใยทอ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ส่วนของลำต้นและเส้นใยจากต้นตาลโตนดมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ได้อย่างลงตัว ผลการพัฒนาและสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาล พบว่า การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาลจากแนวคิดตัวต้นแบบโครงของกระเป๋าที่มีขอบเป็นไม้ตาลประกอบกับเส้นใยทอ ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาล 1 ชุด จำนวน 7 แบบ ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์ใยตาล พบว่า โดยภาพรวมผลิตภัณฑ์ใยตาลทั้ง 7 รูปแบบ มีระดับความเหมาะสมและน่าสนใจอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับได้ดังนี้ โคมไฟห้าเหลี่ยม กล่องใส่สมุดบันทึกลายขัด แนวขวาง กล่องกระดาษทิชชูแบบเหลี่ยม กล่องเอนกประสงค์สี่เหลี่ยมจตุรัส (ลายทอ) กล่องเอนกประสงค์สี่เหลี่ยมผืนผ้า (ลายถัก) กล่องกระดาษทิชชูแบบกลม และกล่องใส่สมุดบันทึกลายแนวตั้ง ข้อเสนอแนะจากการศึกาาครั้งนี้คือ ควรสนับสนุนให้มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนารูปแบบและลวดลายที่หลากหลายมากขึ้นและมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือช่วยในการผลิตตลอดจนให้ความรู้ ทักษะกระบวนการผลิตที่ได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีส่วนในการประชาสัมพันธ์และให้การสนับสนุนทั้งด้านการตลาด การบริหารจัดการกลุ่มเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงและยั่งยืนต่อไป