การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครู สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครูแบบมีส่วนร่วม และกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลการพัฒนาครูในโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า 1. กระบวนการการกำหนดโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู มีลำดับขั้นดังนี้ กำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ เสนอชื่อโรงเรียนโดยภาคีระดับหน่วยงาน วัดระดับความพร้อมของโรงเรียนตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ และคัดเลือกโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม ผลการดำเนินงานได้โรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ปีการศึกษา 2548 จำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดเกาะถ้ำ และโรงเรียนมัธยมสิริ-วัณวรี 2 สงขลา 2. การสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพ ประกอบด้วย กระบวนการสนับสนุนของผู้วิจัย โดยวิธีสร้างความเข้าใจให้แก่ภาคี สร้างความตระหนักแก่ผู้เกี่ยวข้องจัดทำเวทีระดมสมอง จัดสรรงบประมาณ แจ้งแผนการปฏิบัติงานเป็นช่วงๆ ดำเนินงานตามแผนติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน และกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโรงเรียน โดยวิธีการศึกษาสารสนเทศ เชิญประชุมผู้เกี่ยวข้อง ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการ ลงมือปฏิบัติการ ผลปรากฏว่า ทั้งโรงเรียนวัดเกาะถ้ำและโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา ได้แผนปฏิบัติการที่ชัดเจน สำหรับการพัฒนาครูทั้งโรงเรียนในเทคนิคการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดใช้วงจร PDCA ผลการดำเนินงานปรากฏว่า ครูโรงเรียนวัดเกาะถ้ำและโรงเรียนสิริวัณวรี 2 สงขลา ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดในระดับมาก และสามารถนำความรู้ไปใช้สอนในระดับมาก ส่วนการเป็นครุพี่เลี้ยงให้แก่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ครูมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา มีความมั่นใจมาก สำหรับครูโรงเรียนวัดเกาะถ้ำ มีความมั่นใจในระดับปานกลาง 3. การกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลการพัฒนาครูทั้งโรงเรียน ใช้วงจร PDCA ผลการดำเนินงานปรากฏว่า ครูโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา และโรงเรียนวัดเกาะถ้ำ มีความสามารถในการนำความรู้ไปจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ครูทุกคนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอน ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเรียน และครูทั้ง 2 โรงเรียนสามารถเป็นครูพี่เลี้ยงและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ในระดับมาก ร้อยละ 60 ในระดับปานกลาง ร้อยละ 30 เงื่อนไขของความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการนี้คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนร่วมในโครงการ การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การให้ความร่วมมือของผู้บริหารโรงเรียน ความตั้งใจและความรับผิดชอบของครู การนิเทศอย่างเป็นกัลยาณมิตร และความสามารถในการประสานงานของผู้กระตุ้นประสาน ปัญหาของการดำเนินงาน คือ การที่ครูในกลุ่มสาระเดียวกันไม่ยอมรับความสามารถของกันและกัน และความเคยชินของครูในการทำงานแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ความไม่คล่องตัวของการเบิกจ่ายงบประมาณ ในการวิจัยครั้งนี้มีข้อสังเกตบางประการ ที่เป็นประโยชน์ในการคัดเลือกและพัฒนาโรงเรียนเพื่อเป็นโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครู คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารทั้งในด้านการบริหารงานทั่วไปและการบริหารวิชาการ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก