การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐาน และตัวบ่งชี้โรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครูและดำเนินการพัฒนาครูทั้งโรงเรียนตามแผน ประเมินความก้าวหน้า และสรุปผลการพัฒนาครูโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูโรงเรียนวัดหูแร่ และครูโรงเรียนสทิงพระวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู จำนวน 2 โรงเรียน ในเขตจังหวัดสงขลา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การจดบันทึก การสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม ใช้วิธีการระดมสมองครูในโรงเรียนในการจัดทำกรอบมาตรฐานตัวบ่งชี้ แผนปฏิบัติการพัฒนาครูในโรงเรียน ส่วนผลการดำเนินการพัฒนาครูทั้งโรงเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม การประเมินความก้าวหน้าด้วยการนิเทศ ติดตามผลการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้กับผู้เรียน และขยายผลแก่นักเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ตลอดจนตรวจสอบความพร้อมการเป็นโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครู การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1. มาตรฐานที่ควรใช้กำหนดโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู มี 6 ด้าน คือ ด้านโรงเรียน ด้านครู ด้านผู้บริหาร ด้านการบริหารจัดการ ด้านผู้เรียน และด้านผู้ปกครอง 2. มาตรฐานที่ควรใช้กำหนดโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู มี 6 มาตรฐาน 60 ตัวบ่งชี้ ดังนี้ มาตรฐานที่ 1 โรงเรียนมีสภาพบริบทที่เหมาะสม มี 1 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานที่ 2 ครูเป็นแบบอย่างที่ดี และมีความสามารถจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมี 12 ตัวบ่ง ชี้ มาตรฐานที่ 3 ผู้บริหารมีภาวะผู้นำ และเป็นแบบอย่างที่ดี มี 6 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานที่ 4 โรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เอื้อต่อการเป็นโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพครุ มี 20 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความพร้อมด้านคุณธรรม ความสามารถ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มี 18 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานที่ 6 ผู้ปกครองมีความเข้าใจในระบบการจัดการศึกษา มี 3 ตัวบ่งชี้ 3. มาตรฐานและตัวบ่งชี้ในระยะแรกเริ่ม (2548-2550) ควรใช้ 6 มาตรฐาน 34 ตัวบ่งชี้ 4. มาตรฐานการดำเนินงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มรูปสำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5ปี) ในโรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครู มี 4 มาตรฐาน 25 ตัวบ่งชี้ คือ มาตรฐานด้านการวางแผนจำนวน 10 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานด้านระบบการปฏิบัติการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จำนวน 10 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานด้านการตรวจสอบและประเมินผล จำนวน 3 ตัวบ่งชี้ และมาตรฐานด้านการสะท้อนผล จำนวน 2 ตัวบ่งชี้ 5. โรงเรียนร่วมพัฒนาวิชาชีพครูมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ ผู้บริหารต้องมีภาวะผู้นำ และมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ 6. การพัฒนาครูทั้งโรงเรียน ต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการวิชาการโดยระดมสมองครูทั้งโรงเรียน 7. การใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง สามารถนำมาใช้ได้ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา แต่ต้องมีการปรับขั้นตอนให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียน และครูต้องเลือกใช้เทคนิคนี้ให้เหมาะสมกับเนื้อหา 8. การตรวจเยี่ยม และนิเทศ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมกับความเอาใจใส่ของผู้บริหาร จะช่วยให้การพัฒนาบุคคากรประสบความสำเร็จได้