ชื่องานวิจัย
ชื่องานวิจัยภาษาไทย การจัดการความรู้ในแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวในตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ชื่องานวิจัยภาษาอังกฤษ Knowledge Management in Community’s Tourism Learning Center, Case Study: Khaokhaw Subdistrict, La-Ngu District, Satun Province

ผู้ร่วมทำงานวิจัย
หัวหน้าโครงการดร. ชยุต อินทร์พรหม
ผู้ร่วมวิจัยนางสาว สุจิรา วิจิตร
ผู้ร่วมวิจัยดร. นฤภร ไชยสุขทักษิณ
ผู้ร่วมวิจัยนางสาว มาริสา จันทร์ฉาย
ผู้ร่วมวิจัยนาย วสิน ทับวงษ์

รายละเอียดงานวิจัย
แหล่งทุนวิจัย กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
สาขาการวิจัย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
ปีงบประมาณ 2563
ระยะเวลาดำเนินการวิจัย 1 ปี
งบประมาณ 10,000 บาท
พื้นที่ทำการวิจัย ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล
ผู้ประสานงานในพื้นที่ นายราเหม
สถานะของผู้ประสานงาน เจ้าหน้าที่ อบต.เขาขาว
ประเภทงานวิจัย เดี่ยว
สถานะงานวิจัย ดำเนินการเสร็จสิ้น
คำสำคัญ การท่องเที่ยวชุมชน ภูมิปัญญา
บทคัดย่อ การวิจัยเรื่อง การจัดการความรู้ในแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวในตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นการศึกษาตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อถอดองค์ความรู้และรวบรวมข้อมูลในแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวในตำบลเขาขาว(2) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ นำไปจัดทำเป็นระบบสารสนเทศตำบล (3) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเตรียมตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในตำบลเขาขาว ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและการสังเกตแบบมีส่วนร่วม มีกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา คือ ประธานและสมาชิกกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 6กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มขนมบ้านดาหลำ (2)กลุ่มเย็บผ้าบ้านบ่อหิน (3) กลุ่มข้าวกล้องบ้านนาข่าเหนือ (4) กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ (5) กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง (6)กลุ่มโกปี๊นาข่า วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า การตีความข้อมูล การเขียนเชิงพรรณนาเชิงวิเคราะห์เพื่ออธิบายผลการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่า ตำบลเขาขาวได้ดำเนินการท่องเที่ยวชุมชน โดยใช้ฐานทุนชุมชน เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาว พบว่ากลุ่มอาชีพทั้ง 6กลุ่ม มีการรวมกลุ่มทั้งในรูปแบบเป็นทางการ คือ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตสินค้าของกลุ่ม เช่น ขนม เสื้อตัดเย็บ น้ำผึ้ง กาแฟโบราณ ข้าวกล้อง และกลุ่มอีกลักษณะ คือ กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่มีการขอจัดตั้งเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กลุ่มเป้าหมายทั้ง 6 กลุ่มมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานและแหล่งท่องเที่ยว
(1)การจัดการความรู้ในกลุ่มอาชีพพบว่าทุกกลุ่มใช้ความรู้ฝังลึกในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) ใช้วิธีการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ภายในกลุ่ม ซึ่งความรู้เกิดขึ้นจากการลงมือทำจนชำนาญ ลองผิดลองถูก ปรับปรุงด้วยตนเองจนเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดแก่บุคคลอื่นได้ โดยเฉพาะการนำความรู้ไปพัฒนาให้สมาชิกกลุ่มของตน พัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ไปพร้อมกัน การจัดทำความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ของกลุ่ม มีการทำป้ายข้อมูล ป้ายชื่อกลุ่ม ภาพถ่ายกิจกรรม เพจ สื่อวีดีทัศน์ ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะไม่มีความถนัดในการจัดทำความรู้แจ้งชัด และไม่มีการจัดทำคลังความรู้ของกลุ่ม จึงต้องให้บุคคลภายนอกหรือหน่วยงานดำเนินการ
การถ่ายทอดความรู้ของกลุ่ม มีวิธีการถ่ายทอดด้วยภาษา ใช้การเล่าเรื่อง อธิบายจากประสบการณ์ที่สั่งสม การเรียนรู้จากการทำกิจกรรมกลุ่ม การสาธิต การใช้สื่อประกอบยังไม่มีชัดเจน และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้หรือศึกษาดูงานได้
การจัดการความรู้ท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาว ได้มีการชักชวนคนที่สนใจในชุมชนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน คิดกำหนดเป้าหมายและวางแผน ที่จะพัฒนาตำบลเขาขาวให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยมีการค้นหาศักยภาพ หาทุนของชุมชนที่มีอยู่แล้วในตำบล โดยประสานเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ผู้นำกลุ่ม เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกตำบล เช่น หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาวช่วยสนับสนุนและผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน
ในขณะเดียวกัน ตำบลเขาขาวได้ใช้กลไกแกนนำไม่เป็นทางการในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และได้มีการประชุมหารือเพื่อตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวขึ้น ในส่วนของการประยุกต์และเผยแพร่ความรู้การท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวนั้น ทุกกลุ่มจะมีการสร้างเพจเฟซบุ๊คของกลุ่มตนเอง และมีเว็บไซท์ขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว แต่ยังไม่ได้มีการจัดการข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ อีกทั้งขาดกลไกการจัดการความรู้ในพื้นที่
(2)การท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวพบว่าตำบลเขาขาวมีการระบบคิดด้านการท่องเที่ยวชุมชน โดยการเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีถ้ำทะลุเป็นแหล่งฟอสซิล สอดคล้องกับนโยบายจังหวัดสตูลพัฒนาเป็นอุทยานธรณีโลกด้วย จึงมองเชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยเริ่มจากการทำจากจุดเล็กขยายไปสู่จุดใหญ่ และมาจากความต้องการของคนในตำบลเขาขาวที่ต้องการจะให้เกิดการท่องเที่ยวขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตำบลเขาขาวในระยะยาว นอกจากนี้ได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มแกนนำ การรวมกลุ่มอาชีพ สร้างความร่วมมือเพื่อช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกัน โดยใช้ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติเป็นกลไกผลักดันให้คนในชุมชนได้มารวมตัวกัน และได้ร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในการศึกษาวิจัยด้านการท่องเที่ยวชุมชน โดยได้จัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยว ๑ วัน มีการออกแบบการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และชุมชน มีการดำเนินการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมชุมชน การกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ในชุมชน การสนับสนุนของผู้บริหารท้องถิ่น การกระตุ้น ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ให้คนในตำบลได้มีความรู้ ความเข้าใจการท่องเที่ยวชุมชนและมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับบุคคล กลุ่ม ชุมชน โดยใช้วิธีการพูดคุย ปรึกษาหารือ การทำงานร่วมกัน และกระจายผลประโยชน์แก่คนในชุมชนให้มีรายได้ มีงานทำ สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้เป็นสินค้าของชุมชนไว้รองรับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนให้คนในตำบลได้สร้างงานใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้า ธุรกิจชุมชน และได้รับโอกาสการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยเสริมสร้างให้กลุ่มอาชีพ องค์กรในตำบลเขาขาวเกิดการพัฒนาศักยภาพและเกิดความเข้มแข็งของกลุ่มขึ้น
    การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1พบว่าตำบลเขาขาวกำลังดำเนินการจัดการ รวบรวม จัดเก็บความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล กลุ่มอาชีพและสถานที่ต่าง ๆ ในระดับน้อย และไม่สามารถเผยแพร่สาธารณะได้ เพราะต้องอาศัยการจัดทำองค์ความรู้จากคณะบุคคลภายนอก เช่น นักวิชาการ นักศึกษา หน่วยงานราชการ มาช่วยดำเนินการให้ และกลุ่มอาชีพมีวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประจำกลุ่ม ประมาณ 1 – 2คน ตำบลเขาขาวควรมีการวางแนวทางพัฒนาศักยภาพสมาชิกกลุ่มอาชีพให้ยกระดับเป็นวิทยากรประจำกลุ่ม รวมถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เรียนรู้ภูมิปัญญา ทักษะการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในตำบลเขาขาวด้วย
วัตถุประสงค์ ข้อที่ 2พบว่าตำบลเขาขาวควรมีการจัดทำระบบสารสนเทศตำบลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซท์องค์กรบริหารส่วนตำบลเขาขาว โดยรวบรวมเพจ เฟซบุ๊คของสมาชิกกลุ่มอาชีพที่กระจายอยู่ให้เชื่อมโยงในแหล่งข้อมูลเดียวกัน เป็นคลังข้อมูลหรือคลังความรู้ของตำบลเขาขาว
    วัตถุประสงค์ ข้อที่ 3การเตรียมความพร้อมจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในตำบลเขาขาวได้ใช้อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชนเก่าเป็นศูนย์ข้อมูลชุมชน แต่เนื่องจากการจัดทำข้อมูลยังมีน้อย จึงยังไม่ได้นำมาจัดทำเป็นแหล่งข้อมูลตำบล
    ปัญหาที่พบ มีดังนี้คือ กลุ่มอาชีพไม่ได้มีการจัดทำความรู้แจ้งชัดของบุคคลและกลุ่มออกมาเผยแพร่ เนื่องจากขาดความรู้ในด้านนี้ จึงถ่ายทอดความรู้ด้วยการบอกเล่า การแนะนำ การสาธิต ในระดับตำบล ยังขาดการวางระบบข้อมูลตำบล ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตำบลเข้าด้วยกัน ในระดับนโยบาย พบว่าการท่องเที่ยวชุมชนเป็นประเด็นที่เริ่มขับเคลื่อน จึงยังไม่ผลักดันให้เป็นนโยบายหลักของตำบลในขณะนี้ แต่ได้มีการสนับสนุนในบางส่วน และควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับรู้ถึงเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยจำเป็นต้องมีการจัดการภาพรวมการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และควรกำหนดไว้ในแผนพัฒนาตำบล 5ปี ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานมีความชัดเจนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และควรมีการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนด้วย
ข้อเสนอแนะจากการศึกษา มีดังนี้ ตำบลเขาขาวควรมีกลไกคณะทำงานด้านการจัดการความรู้ตำบลขึ้น มีการจัดตั้งศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าของชุมชน มีศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวตำบลเขาขาวควรมีการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ๆ และควรมีการตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในตำบลเกิดการตื่นตัว การร่วมมือและพัฒนาให้ตำบลเขาขาวเป็นตำบลท่องเที่ยวนิยมในอนาคต ควรมีการกำหนดระเบียบ ข้อตกลง กติกาด้านการท่องเที่ยวชุมชนให้ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวเป็นผู้ดำเนินการ และควรมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาว มีการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ การส่งเสริมการลงทุนในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านกีฬาฟุตบอล ด้านการให้บริการที่พักในลักษณะโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
ข้อเสนอแนะต่อการวิจัยครั้งต่อไป ผู้วิจัยเสนอประเด็นดังนี้ 1) ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านการท่องเที่ยวชุมชน 2) ควรมีการศึกษาความเหมาะสมต่อการลงทุนด้านการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน 3) ควรศึกษาวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบองค์รวม 4) ควรมีการศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยา ระบบนิเวศ พืชพรรณและภูมิประเทศในท้องถิ่น 5)ควรวิจัยด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการศึกษาดูงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและยกระดับแหล่งเรียนรู้ให้มีศักยภาพด้านศึกษาดูงาน ฝึกอบรม พัฒนาความรู้ ความสามารถของคนที่สนใจ 6)ควรมีการวิจัยด้านคุณค่าโภชนาการอาหารพื้นบ้านตำบลเขาขาว
 
Fulltext ไม่มีไฟล์
จำนวนการอ่าน

Best Screen Resolution 1024x768 pixel and Text Size as Medium

Copyright 2012 All Rights Reserved | Power by IRD.SKRU