การวิจัยและพัฒนาดดยอาศัยหลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาศักยภาพการดำเนินงานและความต้องการพัฒนาของธุรกิจขนาดย่อมในชุมชน จังหวัดสงขลาที่เลือกเป็นกรณีศึกษา 6 ราย (2) วิเคราะหืหาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมในชุมชน จังหวัดสงขลาที่เลือกเป็นกรณีศึกษา (3) พัฒนาและประเมินผลการพัฒนาธุรกิจ ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัย คือ ประธานและสมาชิกกลุ่มธุรกิจหรือผู้ประกอบการของธุรกิจ 6 ราย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือธุรกิจ การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า ธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำตาลผงของกลุ่มสตรีบ้านคลองฉนวนและธุรกิจผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงคั่วทรายของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคีรีสร้างสรรค์ มีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องทั้งทางกายภาพและทางด้านการตลาด ดังนั้นผู้วิจัยจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด มาบรรยายให้ความรู้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้วิจัย หลังจากนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้ช่วยกันออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ เพื่อให้ธุรกิจนำไปทดลองใช้ ผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้ซื้ออยู่ในระดับดี ส่วนธุรกิจหัตถกรรมอิฐ และกระเบื้องดินเผาบ้านท่านางหอม และธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านสทิงหม้อ ซึ่งต่างก็ผลิตสินค้าประเภทของใช้ ใช้วัตถุดิบเหมือนกัน ต้องมีสถานที่ผลิตที่กว้างขวาง และจำหน่ายสินค้าที่แหล่งผลิต เพราะเคลื่อนย้ายลำบาก ดังนั้นธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการตลาด โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้วิจัย และผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำสื่อต่างๆ เช่น นามบัตรของผู้ประกอบการ แผ่นพับโฆษณษสินค้า เป็นต้น ผลการทดลองใช้สื่อส่งเสริมการขายปรากฏว่าธุรกิจทั้งสองได้รับการติดต่อจากลุกค้าเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์โอ่งปูนซีเมนต์บ้านบ่อดาน มีปัญหาไม่มีข้อมูลสนับสนุนในการขอขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากไม่สามารถทำบัญชีได้ โดยการฝึกอบรมการทำบัญชีจนกระทั่งผู้ประกอบการสามารถบันทึกข้อมูลทางบัญชีแบบง่ายได้ ธุรกิจรายสุดท้ายคือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์จักสานใยตาลโตนด บ้านชะแม ได้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยได้แรงงานเพิ่มเติม จากนักเรียนของโรงเรียนบ้านชะแม ที่ได้รับการฝึกอบรมการจักสานใยตาลโตนดจากประธานกลุ่มธุรกิจ