จากการศึกษากระบวนการแต่งขยายเพลงโหมโรมจากเพลงประจำสถานศึกษา พบว่า เพลงปาริฉัตร ซึ่งเป็นเพลงจังหวะวอลซ์ ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มี ๔ ท่อน คือ ท่อน A ,ท่อน B , ท่อน C และท่อน D ผู้วิจัยนำท่อน A มาแต่งขยายเป็นท่อน ๑ ในอัตรา ๓ ชั้น นำท่อน B มาแต่งขยายเป็นท่อน ๒ นำท่อน ๑ มาแต่งทางเปลี่ยนเป็นท่อน ๓ นำท่อน ๒ มาแต่งทางเปลี่ยนเป็นท่อน ๔ นำท่อน C และท่อน D มาบรรเลงเป็นท่อน ๕ โดยยังคงจังหวะและทำนองเดิมไว้ลงจบด้วยเพลงท้ายวา ใช้หน้าทับปรบไก่ ๓ ชั้น และจังหวะวอลซ์ ในท่อนที่ ๕ ท่อน ๑ - ๔ มีความยาวท่อนละ ๔ จังหวะหน้าทับปรบไก่ ท่อน ๑ และท่อน ๒ เป็นทำนองทางพื้น มีทำนองลักจังหวะในท่อนที่ ๑ จังหวะที่ ๒ ครึ่งหลัง และจังหวะ ๓ ครึ่งแรก ท่อนที่ ๒ จังหวะที่ ๓ ครึ่งหลัง และจังหวะที่ ๔ ครึ่งแรก ท่อน ๓ และท่อน ๔ เป็นทางเปลี่ยนของท่อน ๑ และท่อน ๒ เป็นทำนองลูกล้อ ลูกขัด ลูกเหลื่อม ลูกนำ และลูกตาม ท่อน ๕ เป็นทำนองเดิม ท่อน C และท่อน D จังหวะวอลซ์ ลงจบด้วยเพลงท้ายวา ตามแบบแผนของเพลงโหมโรงเสภา ผู้วิจัยได้ใช้หลักหารประพันธ์เพลงไทยแต่งขยายจากเพลงจังหวะวอลซ์ (3/4) เป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้น (2/4) บรรเลงใน ๒ ระดับเสียง คือ ๑. การบรรเลงเพลงโหมโรงเสภา ใช้ปี่พาทย์ไม้แข็ง (เครื่องห้า, เครื่องคู่ , เครื่องใหญ่) ขึ้นต้นด้วยรัวประลองเสภา ต่อด้วยเพลงโหมโรงจนจบเพลง บรรเลงในระดับเสียงนอก (ทางกรวด) ๒. การบรรเลงเพลงด้วยปี่พาทย์ไม้นวม , เครื่องสาย หรือมโหรี ไม่ต้องขึ้นต้นด้วยรัวประลองเสภา บรรเลงโหมโรงได้เลย และลดเสียงมาบรรเลงในเสียงเพียงออบน (ทางมโหรี)