การศึกษาเรื่องรูปแบบการจัดการ "บวร" เพื่อเยาวชนรุ่นใหม่ใกล้ชิดวัด : กรณีศึกษาเยาวชนจังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับเจตคติต่อวัด ระดับการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา และ ระดับความพึงพอใจในการเข้าค่ายจริยธรรม ของเยาวชนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนเทสบาล 5 และโรงเรียนแจ้งวิทยา โรงเรียนละ 80 คน รวมจำนวน 160 คน สุ่มอย่างง่ายเป็นทดลองโรงเรียนละ 40 คน และกลุ่มควบคุมโรงเรียนละ 40 คน ดำเนินการทดลองโดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบสุ่ม มีกลุ่มทดลองและควบคุม (Randomized Control Grounp Pretest-Posttest Desingn) กลุ่มทดลองใช้กิจกรรมในงาน "บวร" เพื่อใกล้ชิดวัด เสริมการเรียนวิชาพุทธศาสนาที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 และการเข้าค่าย "บวร" ซึ่งใช้รูปแบบกระบวนการกลุ่ม ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับวัด การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา และความพึงพอใจในการเข้าค่ายจริยธรรม "บวร" สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การสอบที (t-test) และการสอบเอฟ (F-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มทดลองมีเจตคติเกี่ยวกับวัดด้านศาสนสถานในระดับมาก ด้านศาสนพิธีและศาสนปฏิบัติในระดับปานกลาง การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาหลังกิจกรรม "บวร' อยู่ในระดับปานกลาง และมีระดับความพึงพอใจในกิจกรรมการเข้าค่ายจริยธรรม "บวร" อยู่ในระดับมารกทุกกิจกรรม 2. ผลการเปรียบเทียบเจตคติเกี่ยวกับวัด และการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังกิจกรรม "บวร" ไม่แตกต่างกัน 3. ผลการเปรียบเทียบเจตคติเกี่ยวกับวัด ของกลุ่มทดลองก่อนและหลังกิจกรรมบวร ไม่แตกต่างกัน แต่การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. ผลการเปรียบเทียบเจตคติเกี่ยวกับวัด การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาของกลุ่มทดลอง หลังกิจกรรม "บวร" ตามตัวแปรเพส อาชีพของบิดา อาชีพของมารดา สิ่งสนับสนุนให้นักเรียนเข้าวัดไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบตามตัวแปรโรงเรียนระดับเจตคติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 5. กลุ่มทดลองที่มีประสบการณ์การเข้าค่ายธรรมะต่างกัน และมาจากโรงเรียนต่างกัน มีความพึงพอใจในกิจกรรมค่ายจริยธรรม "บวร" ไม่แตกต่างกัน