การสร้างสรรค์การแสดง ชุด รำซัดชาตรีร่วมสมัย สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบการแสดงให้สะดวกต่อการจัดการแสดง กล่าวคือ ให้ผู้แสดงที่มีพื้นฐานทางนาฏศิลป์ไทยน้อยสามารถปฏิบัติท่ารำได้ ดนตรีมีจังหวะหน้าทับลงที่สม่ำเสมอ ผู้แสดงสวมใส่เครื่องแต่งกายได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้สะดวกในการนำมาจัดแสดง ขอบเขตการวิจัย คือ รำซัดชาตรีของกรมศิลปากรในปัจจุบัน และลีลานาฏศิลป์ร่วมสมัยในประเทศไทย ผู้วิจัยมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ว่า การแสดงชุดนี้ใช้ท่าหลักแบบรำซัดชาตรี ผสมผสานลีลาการเคลื่อนไหวแบบร่วมสมัย มีจังหวะที่รวดเร็วกระฉับกระเฉงแบบชาตรี มีความพลิ้วไหวและสง่างามแบบร่วมสมัย ใช้ผู้แสดงชาย - หญิงจำนวนเท่ากัน แสดงท่ารำซัดเป็นกลุ่มชายล้วนและหญิงล้วน ต่อมามีการรำซัดเข้าคู่ชาย - หญิง ซึ่งมีท่ารำหลักเฉพาะของแต่ละคู่ และผู้แสดงทั้งหมดรำซัดอย่างพร้อมเพรียงกัน จบด้วยการตั้งซุ้มแบบโนรา เครื่องแต่งกายเน้นความสะดวกรวดเร็วในการสวมใส่ แต่ยังคงความสวยงามปรากฏเอกลักษณ์ของชาตรีและสามารถปฏิบัติท่ารำได้โดยไม่ติดขัด ดนตรีจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งยังคงมีเสียงโทนตีแบบสับจังหวะ และมีเสียงพื้นหลัง ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้บันทึกเสียงในรูปแบบแฟ้มเสียง แล้วบันทึกเป็นแผ่นเสียง เพื่อให้สามารถนำไปใช้แสดงได้หลายโอกาสโดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีและนักดนตรีบรรเลงสด การแสดงชุดนี้เหมาะสำหรับใช้แสดงเบิกโรงในงานรื่นเริงต่างๆ การแสดงชุด รำซัดชาตรีร่วมสมัย จะเป็นบทเรียนเบื้องต้นที่ใช้ฝึกฝนผู้เริ่มเรียนนาฏศิลป์ และผู้ชมการแสดงชุด รำซัดชาตรีร่วมสมัย จะสนใจในนาฏศิลป์ไทยมากขึ้น และต้องการชมการแสดงนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมในโอกาสต่อไป