รายละเอียดข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อบทความ ภาวะหมดไฟในบุคลากรสาธารณสุข: การวิเคราะห์ปัจจัยและการพัฒนาแนวทางการป้องกันสำหรับข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์
ประเภทการตีพิมพ์ วารสารวิชาการระดับชาติ
ชื่องานประชุมวิชาการ/วารสาร วารสารสาธารณสุขนครสวรรค์
ผู้แต่ง ขวัญเรียม หลีเกษม
เกรียงศักดิ์ รัฐกุล
วันที่ตีพิมพ์/นำเสนอ 31 ธ.ค. 2567
ปีที่ 10
ฉบับที่ 3
หมายเลขหน้า 45-56
ลักษณะบทความ
Abstract การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจระดับภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ของข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะหมดไฟ และเสนอแนวทางป้องกันที่เหมาะสม รูปแบบการวิจัยใช้การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) โดยเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากข้าราชการจำนวน 594 คน ด้วยแบบสอบถาม 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ปัจจัยสภาพแวดล้อมในการทำงาน และแบบประเมินภาวะหมดไฟ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression) เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะหมดไฟ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมด้วยการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) และการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง (Semi-Structured Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญบุคลากรสาธารณสุข 15 คน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา และผู้บริหารหน่วยงานสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ 7 คน ผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า โดยรวมข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์มีภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ร้อยละ 66.33 อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 14.31 อยู่ในระดับปานกลาง
และร้อยละ 19.36 อยู่ในระดับสูง บ่งชี้ว่ากลุ่มที่มีภาวะสูงอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ด้านการเมินเฉยต่องาน มีข้าราชการร้อยละ 22.56 อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความจำเป็นในการป้องกันความขาดแรงจูงใจ ส่วนด้านความสามารถในการทำงาน พบว่าร้อยละ 68.86 อยู่ในระดับต่ำ แสดงถึงความต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในงาน ปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติในการทำนายภาวะหมดไฟ ได้แก่ การได้รับผลตอบแทนไม่สมดุลกับงาน ความขัดแย้งระหว่างคนกับงาน และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ส่วนปัจจัยเพศ อายุ ตำแหน่ง และระดับการศึกษาไม่พบความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิเคราะห์เชิงคุณภาพพบว่า ภาระงานที่สูงและความไม่เป็นธรรมด้านค่าตอบแทน เป็นปัจจัยกระตุ้นหลัก การเสนอแนวทางป้องกัน จึงควรมุ่งปรับโครงสร้างภาระงาน ปรับปรุงผลตอบแทนให้เหมาะสม และสร้างกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในองค์กร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนสุขภาพจิต เพื่อป้องกันภาวะหมดไฟและยกระดับประสิทธิภาพของบุคลากรในภาพรวม

คำสำคัญ: ภาวะหมดไฟ บุคลากรสาธารณสุข แนวทางป้องกัน