Abstract |
กากตะกอนน้ำเสียจัดเป็นของเสียจากอุตสาหกรรมที่มีปริมาณธาตุอาหารและสารอินทรีย์สูง การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาอัตราส่วนการผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้กากตะกอนน้ำเสียต่อเส้นใยปาล์ม 6 อัตราส่วน ได้แก่ 100:0, 90:10, 80:20, 70:30, 60:40 และ 50:50 ระยะเวลาหมัก 60 วัน ผลการวิจัย พบว่า ปุ๋ยหมักทุกอัตราส่วนมีสมบัติทางกายภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ส่วนสมบัติทางเคมี พบแคดเมียมอยู่ในช่วง 4.6-8.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนด ปริมาณแคดเมียมที่พบในปุ๋ยหมักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของกากตะกอนน้ำเสียที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วน 70:30 มีดัชนีการงอกของเมล็ดสูงที่สุด (ร้อยละ 83.1+8.5) ซึ่งแตกต่างจากอัตราส่วนอื่นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า อัตราส่วนปุ๋ยหมัก 70:30 เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุดสําหรับการผลิตปุ๋ยหมักจากกากตะกอนน้ำเสียและเส้นใยปาล์มตามมาตรฐานดัชนีการงอกของเมล็ด อย่างไรก็ตาม ปริมาณแคดเมียมที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยชี้ให้เห็นถึงความจําเป็นในการปรับปรุงวิธีการหมัก โดยการใช้สัดส่วนกากตะกอนน้ำเสียน้อยกว่าร้อยละ 50 การปรับปรุงคุณภาพกากตะกอนน้ำเสีย เพื่อลดแคดเมียมก่อนการหมักเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และแนะนำให้เพิ่มชนิดวัสดุที่ใช้ในการหมักร่วม นอกจากนี้ควรศึกษาการใช้ปุ๋ยหมักดังกล่าวกับพืชในระยะยาว เพื่อศึกษาผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม ก่อนการนำไปใช้ประโยชน์จริง |