รายละเอียดข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อบทความ การประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อจัดทำ ฐานข้อมูลและวิเคราะห์รูปแบบการกระจายตัว ความหนาแน่น ของที่ตั้งช่างทำ ชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา กรณีศึกษา: จังหวัดพัทลุง
ประเภทการตีพิมพ์ วารสารวิชาการระดับชาติ
ชื่องานประชุมวิชาการ/วารสาร Journal of Information and Learning
ผู้แต่ง -
โชติกา รติชลิยกุล
นรเทพ ศักดิ์เพชร
วันที่ตีพิมพ์/นำเสนอ 20 ธ.ค. 2565
ปีที่ ปีที่ 33
ฉบับที่ ฉบับที่ 3
หมายเลขหน้า 108-118
ลักษณะบทความ
Abstract เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นแหล่งกำเนิดโนราและมีช่างที่มีฝีมือในการทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนราอยู่ในพื้นที่ แต่เมื่อผู้วิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา พบว่า ข้อมูลมีอยู่น้อยมาก ไม่เป็นปัจจุบันและยังไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลของช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา รวมถึงการศึกษารูปแบบการกระจายตัว ความหนาแน่นของที่ตั้งช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนราในจังหวัดพัทลุง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ผู้วิจัยจึงได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจข้อมูลช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา ทั้งเรื่องข้อมูลของช่าง ที่ตั้ง การติดต่อ ประเภทชุดและเครื่องดนตรีที่ทำ การสำรวจข้อมูลผู้วิจัยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อเก็บข้อมูลพิกัดที่ตั้งกลุ่มร่วมกับการสัมภาษณ์และการจัดเวทีสนทนากลุ่ม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลรวมถึงการวิเคราะห์รูปแบบการกระจายตัว และความหนาแน่นของที่ตั้งช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา
ผลการศึกษา พบว่า จังหวัดพัทลุงมีช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนราทั้งหมด 24 แห่ง แบ่งเป็นช่างทำชุดโนรา 21 แห่งและช่างทำเครื่องดนตรีโนรา 3 แห่ง โดยช่างทำชุดโนราส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในอำเภอเมือง และอำเภอควนขนุน ส่วนช่างทำเครื่องดนตรีโนราส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในอำเภอเมือง ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจผู้วิจัยได้จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยแบ่งเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่กับข้อมูลเชิงคุณลักษณะและเชื่อมต่อข้อมูลทั้งสองส่วนไว้ด้วยกัน สำหรับการศึกษาลักษณะการกระจายตัวของช่างทำชุดโนราและเครื่องดนตรีโนรา พบว่า มีรูปแบบการกระจายตัวแบบทั่วไป และส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ที่อำเภอเมืองพัทลุง ส่วนการศึกษาความหนาแน่น พบว่า มีระดับความหนาแน่นมากอยู่บริเวณตอนกลางของอำเภอและบริเวณที่มีถนนตัดผ่าน การศึกษาครั้งนี้ช่วยให้หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันไปใช้วางแผนบริหารจัดการและอนุรักษ์ศิลปะการทำชุดโนราและเครื่องดนตรีให้คงอยู่ตลอดไป
คำสำคัญ: การกระจายตัว, ความหนาแน่น, ช่างทำชุดโนรา, ช่างทำเครื่องดนตรีโนรา